คุณอาจเคยได้ยินข่าวเรื่องคนขี่สามล้อที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ซึ่งได้รับเงินรางวัลเป็นสิบ ๆ ล้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี เขากลับไม่มีเงินเหลือแม้สักบาทเดียว สุดท้ายจึงต้องกลับมาถีบสามล้อใหม่อีกครั้ง อาจจะเป็นเรื่องน่าขำที่เกิดขึ้น แต่นี่เป็นเพียงตัวอย่างง่าย ๆ ของบุคคลที่ไม่มีการวางแผนหรือมีการวางแผนการเงินที่ไม่ดีพอ ซึ่งส่วนใหญ่มักเนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

- คิดว่าตัวเองมีรายได้เพียงพอสำหรับภาระค่าใช้จ่ายรายวันแล้ว
- ไม่ต้องการคิดในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตในทางไม่ดี เช่น การว่างงาน ทุพพลภาพ ความตาย
- ไม่มีเวลาที่จะจัดทำแผน
- คิดว่าการวางแผนการเงินเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง
- ต้องการคงวิถีชีวิตของตนไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มักคิดว่าสถานะการเงินของตนเองอยู่ในสภาพที่ดีอยู่แล้ว
- มักคิดว่าการวางแผนการเงินเหมาะสำหรับผู้ที่ใกล้เกษียณอายุเท่านั้น

ดังนั้น ก่อนที่คุณจะลงทุน คุณควรจะจัดสรรเงินที่มีอยู่ให้ตรงกับความต้องการของการใช้เงินที่คุณวางแผนไว้เสียก่อน โดยคำนึงถึงช่วงอายุและรายได้ จะได้รับทั้งหมดเป็นสำคัญ

ช่วงอายุ ( Life Cycle)

เป็นปัจจัยสำคัญประการแรกที่คุณควรใช้พิจารณาในการวางแผนการเงิน ผู้ที่มีอายุน้อยและมีรายได้อยู่ในช่วงเริ่มสะสมทรัพย์ มักจะนิยมออมเงินเพื่อมาซื้อทรัพย์สินเช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ทำให้เงินออมส่วนใหญ่มักจะจมไปกับการผ่อนหนี้ที่มัดตัวจนไม่สามารถนำไปลงทุนให้เงินงอกเงยได้เลย ดังนั้น คุณควรจะวางแผนว่ามีความ จำเป็นที่จะใช้สินทรัพย์ใดบ้าง ในช่วงอายุใดที่เหมาะสมจะซื้อ และต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ได้มา เมื่อทำงานได้จนสามารถสะสมทรัพย์สินตามที่ต้องการแล้ว คุณควรจะเริ่มลงทุนในสิ่งที่มั่นคงถาวรขึ้น เพื่อเป็นเงินออมสำหรับใช้เมื่อหลังเกษียณอายุ โดยมีจุดประสงค์ที่จะเป็นอิสระทางการเงินเป็นสำคัญ

จากแผนภูมิ แสดงให้เห็นถึงช่วงอายุของผู้ลงทุน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1. ขั้นตอนของชีวิตช่วงที่เริ่มทำงานและสะสมทุนทรัพย์

เป็นช่วงที่มีรายได้น้อยแต่สม่ำเสมอ โดยปกติแล้วรายได้มักจะเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอตามระดับความรับผิดชอบที่สูงขึ้น และทักษะความรู้ที่พัฒนาขึ้นจากงานนั้นๆ

2. ขั้นตอนของชีวิตช่วงที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย

เป็นช่วงที่มีระดับความสามารถในการหารายได้สูงที่สุด เนื่องจากคุณจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคง ส่วนหนี้สินที่มีนั้นลดลง จึงทำให้มีเงินส่วนที่เหลือไว้สำหรับการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ดี คุณควรจะเก็บเงินบางส่วนสำรองไว้สำหรับใช้ในช่วงเกษียณอายุด้วย

3. ขั้นตอนของชีวิตช่วงเกษียณอายุการทำงาน

คุณมีโอกาสน้อยที่จะหารายได้เพิ่มขึ้น จึงต้องใช้ทรัพย์สินที่สะสมและลงทุนไว้ เงินบำนาญ และเงินออมเพื่อเกษียณในการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นช่วงที่คุณจะมีอิสระทางการเงิน

4. ขั้นตอนของช่วงปลายชีวิต

มีทรัพย์สินมากเกินกว่าจะใช้หมด จึงมีเหลือเผื่อแผ่เจือจุนให้แก่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง


รายได้ที่ได้รับ ( Income)

เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นไม่ว่าจะได้จากเงินประจำเดือน จากธุรกิจส่วนตัว เงินจากมรดก หรืออื่น ๆ คุณควรจัดสรรเงินก้อนแรกไว้สำหรับค่าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของตัวคุณและครอบครัว เช่น เงินค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น หลังจากที่เตรียมการขั้นพื้นฐานสำหรับชีวิตไว้เรียบร้อยแล้ว คุณควรจะตระหนักถึงค่าใช้จ่ายสำคัญที่คุณควรจัดเตรียมไว้ก่อนเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อคุณจะได้ไม่มีความกังวลใจและเครียดกับผลของการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย

- เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เงินสำรองนี้ควรเก็บไว้ในรูปแบบที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และสามารถเบิกใช้ได้ทันทีที่ต้องการ เช่น การฝากในรูปบัญชีออมทรัพย์ - ภาระหนี้สิน ถือเป็นหน้าที่ของคุณตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบ เพราะหากคุณไม่จ่ายตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินในครอบครองหรืออาจฟ้องล้มละลายได้
- เงินสำหรับแผนการในอนาคต หากคุณมีแผนการที่ชัด-เจนเหล่านี้อยู่ในใจ ก็ควรจะวางแผนเก็บเงินเพื่อแผนการนั้น โดยคำนวณจากเงินที่มีในปัจจุบันและรายได้ในอนาคต
- เงินประกัน คุณอาจจะจัดทำประกันชีวิต หรือประกันอื่น ๆ ทั้งแก่ตัวคุณเองและสมาชิกในครอบครัวให้ ในกรณีที่คุณไม่อยากเสี่ยงกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เพื่อให้เข้าใจบทความได้มากขึ้นสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ (มีรูปภาพประกอบ)

http://www.bangkokwealth.com/personal_financial_planning/personal_financial_planning.htm#2

0 Comments:

Post a Comment