คุณอาจเคยได้ยินข่าวเรื่องคนขี่สามล้อที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ซึ่งได้รับเงินรางวัลเป็นสิบ ๆ ล้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี เขากลับไม่มีเงินเหลือแม้สักบาทเดียว สุดท้ายจึงต้องกลับมาถีบสามล้อใหม่อีกครั้ง อาจจะเป็นเรื่องน่าขำที่เกิดขึ้น แต่นี่เป็นเพียงตัวอย่างง่าย ๆ ของบุคคลที่ไม่มีการวางแผนหรือมีการวางแผนการเงินที่ไม่ดีพอ ซึ่งส่วนใหญ่มักเนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

- คิดว่าตัวเองมีรายได้เพียงพอสำหรับภาระค่าใช้จ่ายรายวันแล้ว
- ไม่ต้องการคิดในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตในทางไม่ดี เช่น การว่างงาน ทุพพลภาพ ความตาย
- ไม่มีเวลาที่จะจัดทำแผน
- คิดว่าการวางแผนการเงินเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง
- ต้องการคงวิถีชีวิตของตนไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มักคิดว่าสถานะการเงินของตนเองอยู่ในสภาพที่ดีอยู่แล้ว
- มักคิดว่าการวางแผนการเงินเหมาะสำหรับผู้ที่ใกล้เกษียณอายุเท่านั้น

ดังนั้น ก่อนที่คุณจะลงทุน คุณควรจะจัดสรรเงินที่มีอยู่ให้ตรงกับความต้องการของการใช้เงินที่คุณวางแผนไว้เสียก่อน โดยคำนึงถึงช่วงอายุและรายได้ จะได้รับทั้งหมดเป็นสำคัญ

ช่วงอายุ ( Life Cycle)

เป็นปัจจัยสำคัญประการแรกที่คุณควรใช้พิจารณาในการวางแผนการเงิน ผู้ที่มีอายุน้อยและมีรายได้อยู่ในช่วงเริ่มสะสมทรัพย์ มักจะนิยมออมเงินเพื่อมาซื้อทรัพย์สินเช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ทำให้เงินออมส่วนใหญ่มักจะจมไปกับการผ่อนหนี้ที่มัดตัวจนไม่สามารถนำไปลงทุนให้เงินงอกเงยได้เลย ดังนั้น คุณควรจะวางแผนว่ามีความ จำเป็นที่จะใช้สินทรัพย์ใดบ้าง ในช่วงอายุใดที่เหมาะสมจะซื้อ และต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ได้มา เมื่อทำงานได้จนสามารถสะสมทรัพย์สินตามที่ต้องการแล้ว คุณควรจะเริ่มลงทุนในสิ่งที่มั่นคงถาวรขึ้น เพื่อเป็นเงินออมสำหรับใช้เมื่อหลังเกษียณอายุ โดยมีจุดประสงค์ที่จะเป็นอิสระทางการเงินเป็นสำคัญ

จากแผนภูมิ แสดงให้เห็นถึงช่วงอายุของผู้ลงทุน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1. ขั้นตอนของชีวิตช่วงที่เริ่มทำงานและสะสมทุนทรัพย์

เป็นช่วงที่มีรายได้น้อยแต่สม่ำเสมอ โดยปกติแล้วรายได้มักจะเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอตามระดับความรับผิดชอบที่สูงขึ้น และทักษะความรู้ที่พัฒนาขึ้นจากงานนั้นๆ

2. ขั้นตอนของชีวิตช่วงที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย

เป็นช่วงที่มีระดับความสามารถในการหารายได้สูงที่สุด เนื่องจากคุณจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคง ส่วนหนี้สินที่มีนั้นลดลง จึงทำให้มีเงินส่วนที่เหลือไว้สำหรับการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ดี คุณควรจะเก็บเงินบางส่วนสำรองไว้สำหรับใช้ในช่วงเกษียณอายุด้วย

3. ขั้นตอนของชีวิตช่วงเกษียณอายุการทำงาน

คุณมีโอกาสน้อยที่จะหารายได้เพิ่มขึ้น จึงต้องใช้ทรัพย์สินที่สะสมและลงทุนไว้ เงินบำนาญ และเงินออมเพื่อเกษียณในการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นช่วงที่คุณจะมีอิสระทางการเงิน

4. ขั้นตอนของช่วงปลายชีวิต

มีทรัพย์สินมากเกินกว่าจะใช้หมด จึงมีเหลือเผื่อแผ่เจือจุนให้แก่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง


รายได้ที่ได้รับ ( Income)

เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นไม่ว่าจะได้จากเงินประจำเดือน จากธุรกิจส่วนตัว เงินจากมรดก หรืออื่น ๆ คุณควรจัดสรรเงินก้อนแรกไว้สำหรับค่าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของตัวคุณและครอบครัว เช่น เงินค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น หลังจากที่เตรียมการขั้นพื้นฐานสำหรับชีวิตไว้เรียบร้อยแล้ว คุณควรจะตระหนักถึงค่าใช้จ่ายสำคัญที่คุณควรจัดเตรียมไว้ก่อนเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อคุณจะได้ไม่มีความกังวลใจและเครียดกับผลของการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย

- เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เงินสำรองนี้ควรเก็บไว้ในรูปแบบที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และสามารถเบิกใช้ได้ทันทีที่ต้องการ เช่น การฝากในรูปบัญชีออมทรัพย์ - ภาระหนี้สิน ถือเป็นหน้าที่ของคุณตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบ เพราะหากคุณไม่จ่ายตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินในครอบครองหรืออาจฟ้องล้มละลายได้
- เงินสำหรับแผนการในอนาคต หากคุณมีแผนการที่ชัด-เจนเหล่านี้อยู่ในใจ ก็ควรจะวางแผนเก็บเงินเพื่อแผนการนั้น โดยคำนวณจากเงินที่มีในปัจจุบันและรายได้ในอนาคต
- เงินประกัน คุณอาจจะจัดทำประกันชีวิต หรือประกันอื่น ๆ ทั้งแก่ตัวคุณเองและสมาชิกในครอบครัวให้ ในกรณีที่คุณไม่อยากเสี่ยงกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เพื่อให้เข้าใจบทความได้มากขึ้นสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ (มีรูปภาพประกอบ)

http://www.bangkokwealth.com/personal_financial_planning/personal_financial_planning.htm#2

ความฝันนี้ในอดีตคงมีเพียง “เถ้าแก่” หรือผู้ที่ความรวยติดสายสะดือมาด้วยเท่านั้น ที่มีโอกาสเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ แต่ปัจจุบัน “มนุษย์เงินเดือน” อย่างเราๆ ท่านๆ ก็มีโอกาสที่จะเติบโตก้าวหน้าไปเป็นเศรษฐีเงินล้านได้เช่นเดียวกัน

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของใครก็ตาม ต้องเริ่มต้นจากการมี “ความฝัน” เสียก่อน และใครที่กำลังฝันอยากจะมีเงินล้าน รู้ไว้เถอะว่า การเป็น “เศรษฐีเงินล้าน” จะยากหรือง่ายก็ขึ้นกับตัวคุณเอง

ถ้าเป้าหมายชีวิตของคุณ คืออยากเป็นเจ้าของ “เงินล้าน” รู้ไว้เถอะว่าไม่ยากเย็นอะไร แต่ก่อนอื่น เพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้บรรลุผลนั้น ปัจจัยสำคัญที่คุณจะต้องคำนึงถึงและนำมาคิด คือเรื่องของ “การสะสมเงิน” และ “อัตราผลตอบแทน” ที่จะได้รับจากการลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น จะทำให้คุณรู้ว่าต้องสะสมเงินเท่าไรในแต่ละเดือน หรือในแต่ละปีจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้

วิธีการบรรลุเป้าหมายเงิน 1 ล้านบาท ทั้งนี้มีอยู่ “2 วิธี” ด้วยกันที่คุณจะนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนรวมกับเงินต้นให้งอกเงย เป็นจำนวนเงินที่ต้องการได้ สมมติคุณต้องการมีเงิน 1 ล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า

1. Lum Sum Investment
เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินก้อนขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสามารถแบ่งเงิน ไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้ โดยอาศัยหลักการทำงานของ “ดอกเบี้ยทบต้น” จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ข้างต้น หากคุณสามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราดอกเบี้ย 5.0% ต่อปี คุณจะใส่เงินลงทุนเบื้องต้นไปเพียง 613,783.5 บาท โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยทบต้น 5.0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี คุณก็จะมีเงิน 1 ล้านบาท ตามที่คุณต้องการ

2. Making a Series of Investment Over Time
แต่ถ้าคุณเป็นนักลงทุนรายย่อย เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีเงินถุงเงินถังแล้ว วิธีที่สองนี้น่าจะเหมาะสมกับคุณมากกว่า เพราะเป็นการกำหนดแผนการสะสมเงินเป็นงวดๆ โดยคำนึงถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งเป็นการ “ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ” ทุกงวดตามระยะเวลาที่คุณกำหนดไว้ โดยจะเป็น “รายปี” หรือ “รายเดือน” ก็ได้ จนกว่าจะครบกำหนดตามเป้าหมายทางการเงินที่ได้วางเอาไว้ โดยอาศัยหลักการทำงานของดอกเบี้ยทบต้นเช่นเดียวกัน ด้วยวิธีนี้หากคุณสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราดอกเบี้ยทบต้น 5% คุณจะออมเงินเพียงปีละ 79,503.9 บาท เข้าไปทุกปี (เฉลี่ยแล้วเดือนละ 6,625.33 บาท) เป็นจำนวนเงินเท่าๆ กันทุกปี เมื่อครบ 10 ปี คุณก็จะมีเงิน 1 ล้านบาท ตามที่คุณต้องการ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ใช้เงินอย่างมีเหตุมีผล-วางรากฐานการออม "แม่" ไม่เพียงเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูกน้อย แต่ยังเป็น "ต้นฉบับ" ที่ลูกมักจดจำพฤติกรรมและนิสัยบางอย่าง ติดตัวไปจนโต นั่นจึงทำให้คำกล่าวที่ว่า "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น" ถูกหยิบขึ้นมาใช้บ่อยๆ

ที่มาของรูป http://www.sangaree.ac.th/main.php?language=english

ถ้าแม่มีพฤติกรรมทางการเงินดีๆ ซะอย่าง และบ่มเพาะนิสัยที่ดีทางการเงินให้ลูก รับรองว่าลูกของคุณก็จะถอดแบบเรื่องดีๆ ที่คุณปลูกสร้างไว้ แต่ถ้าแม่ยังมีอาการเสพติดแบรนด์เนม ก็อย่าหวังว่าลูกวัยรุ่นของคุณจะรู้จักใช้เงิน ประหยัด หัดออม ได้รวบรวมความเห็นของคุณแม่นักการเงินหลายๆ ท่านมานำเสนอแง่มุม และนิสัยทางการเงินดีๆ ที่แม่ควรเป็นต้นแบบให้ลูก

เมื่อคิดจะวางรากฐานที่ดีให้กับลูกหลานแล้ว ต้องอย่าลืมมองตัวเองว่า เราเป็นต้นแบบที่ดีให้พวกเขาหรือเปล่า ถ้าตัวคุณเป็นตัวอย่างที่ดี ลูกๆ ของคุณ ก็จะเรียนรู้วิธีการบริหารเงิน โดยมีคุณเป็นแบบอย่างนั่นเอง ดังนั้น จงเป็นตัวอย่างที่ดี และวางรากฐานการใช้เงินดีๆ ให้ลูกๆ เห็นเสมอ ไม่ใช่ว่าอยากให้ลูกรู้จักประหยัดอดออม แต่ตัวคุณเองนั่นแหละ ที่เห็นอะไรเป็นควักกระเป๋าซื้อ


แบบไม่คิดหน้าคิดหลัง จ่ายทุกอย่างเมื่ออยากได้ แล้วอย่างนี้จะเป็นต้นแบบที่ดีได้อย่างไร

+........................................+

@ วางรากฐานการออมเงิน&รู้จักแบ่งเป็น @

"ดัยนา บุนนาค" อดีตนักการเงินผู้คร่ำหวอดในแวดวงกองทุนรวม ให้ข้อคิดว่า นิสัยแรกที่ได้พยายามปลูกฝังให้ลูกคือ การรู้จักแบ่งปัน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การแบ่งขนม ของเล่น ทุกปีจะมีวันที่เลือกเสื้อผ้า และของเล่นไปบริจาค เมื่อลูกเริ่มไปโรงเรียน เธอจะให้เงินไปโรงเรียนพร้อมทั้งให้กระปุกแก่ลูก 2 ใบ เวลาลูกกลับมาบ้านก็จะชวนลูกหยอดเงินที่เหลือใส่กระปุก ใบหนึ่งสำหรับตัวเอง อีกใบสำหรับทำบุญ เมื่อกระปุกเริ่มเต็ม ก็จะนำเงินออกมานับให้ลูกภาคภูมิใจว่าเก็บได้เยอะ เป็นกำลังใจให้เก็บมากขึ้น

"ดิฉันมีลูกสาวที่น่ารักสองคน คนโตชื่อ ญารินดา บุนนาค สำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ส่วนคนเล็กชื่อ ดณีญา บุนนาค กำลังศึกษาการบริหารธุรกิจโรงแรมที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

อย่างที่บอกว่าเมื่อถึงตอนที่ออมเงินได้แล้ว ก็จะถามลูกว่าจะนำไปซื้อของที่เคยอยากได้ หรือจะเก็บเงินไว้ ส่วนใหญ่ลูกจะหายอยากได้ของชิ้นนั้นไปแล้ว ส่วนอีกกระปุกก็จะเลือกกันว่าจะนำไปทำบุญอะไรดี ดิฉันจะสอนลูกให้พิจารณาเหตุผล และตัดสินใจด้วยตนเองตั้งแต่เด็กๆ"

ครั้งแรกที่จะนำเงินไปฝากธนาคาร ก็ใช้เวลาอธิบายนานพอสมควรว่าเงินไม่ได้หายไป โดยธนาคารจะนำเงินไปให้ผู้อื่นที่ต้องการใช้เงินยืมไปใช้ ส่วนลูกก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน ทำให้มีเงินมากขึ้น โดยอธิบายให้ลูกเห็นประโยชน์ของดอกเบี้ยทบต้น ที่ทำให้เงินเพิ่มทวี

คุณแม่นักการเงินอีกรายหนึ่งที่มีวิธีสอนลูกในเรื่องเงินๆ ทองๆ ได้อย่างน่าฟัง คือ "วรวรรณ ธาราภูมิ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า นิสัยทางการเงินอย่างหนึ่งที่เธอหมั่นบ่มเพาะให้ลูกคือ เมื่อเราพึ่งพาตนเองได้แล้ว เราก็ต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปช่วยผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าด้วย

"บ้านเราทำทานมากกว่าทำบุญ ไม่ค่อยสร้างวัด สร้างพระ ฯลฯ แต่หนักไปทางจุนเจือคนด้อยโอกาส ลูกก็เห็นสิ่งที่ทำ เคยถามว่าทำไมไม่เอาเงินนี้ไปลงทุน เพื่ออนาคตจะได้มากขึ้นๆ แม่ก็บอกว่านี่ละการลงทุนอีกชนิดหนึ่ง แม่ลงทุนทางสังคมให้ลูกและคนอื่นๆ"

กล่าวคือ การสนับสนุนของแม่ ทำให้ชีวิตเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสและผู้ใหญ่ที่ไม่โชคดีอย่างเรา สามารถอยู่รอดได้ พออยู่รอดได้เขาก็ไม่ไปเป็นคนไม่ดีในสังคม เขาก็จะระลึกได้ว่าพวกเราที่โชคดีกว่าเขา ทำดีต่อเขา เขาก็จะไม่โกรธแค้นเกลียดชังพวกเรา สังคมก็จะดีขึ้น

"โชติกา สวนานนท์" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย เป็นคุณแม่อีกคนหนึ่งที่วางรากฐานการออมให้ลูกตั้งแต่เล็ก เพราะเธอเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญอย่างยิ่ง

"โดยปกติก็จะมีทั้งส่วนที่แม่ออมให้ และสอนให้เขาออมเอง ก็จะคอยบอกคอยสอนตลอดว่า การออมดี และมีประโยชน์อย่างไร ลูกก็จะซึมซับมาเรื่อยๆ สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องมีวินัยทางการเงินให้ลูกเห็นก่อน"

คุณแม่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่าง "ชาลอต โทณวณิก" บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ก็มักจะบอกและทำให้ลูกเห็นถึงวินัยทางการออมของแม่ และโดยมากก็จะทำให้ลูกเห็นว่า เงินทองไม่ใช่ของที่จะหามาได้ง่ายๆ บอกให้เขารู้แหล่งที่มาของรายได้ ลูกก็จะซึมซับความเหนื่อยยากของพ่อแม่ และรู้คุณค่าของเงิน

+........................................+

@ สอนให้ลงทุน&หารายได้ @

นอกจากการสอนเรื่องการฝากเงินแล้ว ดัยนายังสอนลูกเรื่องการหารายได้ เช่น การเล่นขายของ หม้อข้าวหม้อแกงโดยได้เข้าไปในเวบไซต์ของอเมริกาซึ่งมีเกมให้เด็กเล่นขายน้ำมะนาว (Lemonade stand) ซึ่งสอนเด็กให้รู้จักตัดสินใจประเมิน และเลือกโอกาสทางธุรกิจ โดยแต่ละเมืองจะมีค่าเช่าแผงไม่เท่ากัน ราคามะนาว น้ำตาลไม่เท่ากัน ส่วนราคาขายก็ให้ตั้งเอง โดยหน้าร้อนหน้าหนาวจะขายได้มากน้อยต่างกัน หากขายแพงจะขายได้น้อยกว่าขายถูก แต่ได้กำไรมากกว่า หรืออาจขายไม่ได้เลย ที่สำคัญคือ เด็กได้หัดตัดสินใจ และศึกษาผลจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางการขาย

เรื่องการลงทุนนั้น ดิฉันสอนให้ลูกลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่างๆ เมื่อลูกคนโตเริ่มทำงาน ก็แนะนำให้ซื้อกองทุน RMF และกองทุน LTF ทันที นอกจากนั้นให้แบ่งเงินไว้ออม และลงทุนก่อนเหลือเท่าไรค่อยใช้ และต้องไม่ลืมที่จะแบ่งเงินไว้ทำบุญเสมอ

โชติกาบอกว่าเมื่อบอกสอนให้ลูกออมมาได้ระดับหนึ่งแล้ว และประกอบกับวัยที่โตขึ้น ก็จะคอยสอนเขาให้รู้จักกับเรื่องของการลงทุน ว่านอกจากการฝากเงินแล้วที่จริงในโลกของเรายังมีการลงทุนอีกหลายรูปแบบให้เราเลือกลงทุน ลูกก็จะรู้จักการลงทุน จัดพอร์ต และกระจายความเสี่ยง มีทักษะการลงทุนที่ดีติดตัวเขาไปตลอด

+........................................+

@ ให้รู้จักความสุขที่ไม่ใช่แค่ "เงินทอง" @

นอกจากนั้น ดัยนาจะสอนให้ลูกตระหนักเสมอว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่ใจ บางทีคนยากจนมีความสุขยิ่งกว่าคนร่ำรวยเสียอีก ดังนั้น เธอจะสอนให้ลูกรู้จักความสุขจากการให้และทำบุญให้มากๆ พอใจในสิ่งที่ตนมีเป็นความสุขนั้นอยู่ที่ใจ อย่าโลภมาก อย่ามองแต่คนที่มีมากกว่าเรา แต่ให้มองคนที่มีน้อยกว่า และคิดเสมอว่าเราจะมีส่วนทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

และที่สำคัญที่สุดคือ การสอนให้ลูกเป็นคนดีและซื่อสัตย์สุจริต เข้าใจความจำเป็นและความสำคัญของกฎเกณฑ์ กฎหมายต่างๆ ซึ่งทุกคนจะต้องมีวินัย เคารพและปฏิบัติตามกฎ ซึ่งพ่อแม่ต้องสอนโดยการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง เธอและครอบครัวเชื่อในเรื่องบุญและบาป จะสอนให้ลูกปฏิบัติธรรมตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งช่วยให้ลูกมีจิตใจที่ดี มั่นคงเข้มแข็งมีเหตุผล ดูแลตนเองได้ดี ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด ซึ่งลูกทั้งสองคนก็ไม่เคยทำให้พ่อแม่ผิดหวัง

+........................................+

@ ทำแผนการเงินให้ลูกเห็น @

วรวรรณบอกอีกว่า มีหลายสิ่งหลายประเด็นที่พ่อแม่สามารถเป็นต้นแบบให้ลูกเห็น เช่นโดยมากครอบครัวไทยๆ แม่มักเป็นผู้จัดการเงินในบ้าน ดังนั้นเธอจึงทำตัวอย่างให้ลูกเห็นด้วยการหยิบเอาของจริงในชีวิตจริงมาแสดงให้เห็นคือ แม่ทำแผนการเงินเป็นรายเดือนว่ารายได้ที่เราได้รับในแต่ละเดือนนั้น เราต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง โดยทำแผนล่วงหน้าเป็นปีด้วย เพราะบางเดือนเราจะมีรายจ่ายเป็นครั้งคราวเช่น ค่าเล่าเรียนลูก ค่าประกันรถ ค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ หรือค่ารักษาพยาบาลเช่น การตรวจร่างกายประจำปี/ครึ่งปี รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของครอบครัวด้วย

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะมีรายการค่าใช้จ่ายรายการหนึ่งที่เป็นการออมทุกเดือนเอาไว้ก่อน ส่วนที่เหลือจากความจำเป็นและการออม คือ ส่วนที่เราจะเอาไปใช้ในสิ่งฟุ่มเฟือยบ้างได้ แผนพวกนี้ทำไปจนเราเกษียณแล้ว เราจึงเห็นตั้งแต่วันนี้เลยว่าเราจะมีสภาพอย่างไรในยามเกษียณ ลูกจะสามารถศึกษาได้ขนาดไหน ฯลฯ

ในส่วนที่เป็นการออม ก็จะเอาไปลงทุนในกองทุนรวมทุกเดือน ทั้งกองทุนในประเทศและต่างประเทศ เพราะเราทำงานแบบนี้หากไปซื้อหลักทรัพย์เองมันไม่สะดวกใจ และอาจเป็นที่ครหา ก็เลยตัดปัญหาไปเสียเลย และเราก็ให้ลูกดูโมเดลที่เราทำ ซึ่งเป็นการประมาณการว่าการลงทุนของเราในที่ต่างๆ นั้น พอเราอายุ 60 ปี มันจะเป็นอย่างไร ควรปรับสัดส่วนอย่างไรไหม ภายใต้ข้อมูลและอายุของเราที่เปลี่ยนไปทุกปี

"สิ่งที่ลูกจะเรียนรู้ได้จากแม่ในเรื่องนี้ คือ การรู้จักวางแผนการเงินตั้งแต่เล็กๆ การเรียนรู้และจัดทำแผนการเงินของตนเองจะให้ลูกมีสติ รู้ประมาณตน และหมดความกังวลใจในความไม่แน่นนอนทางการเงินไปได้ตลอดอายุขัย นี่เป็นเสรีภาพในชีวิตตนเองอย่างหนึ่งที่อยากให้ลูกได้รับ สมมติว่าต่อไปลูกไปเป็นลูกจ้างใคร เกิดงานที่ทำนั้นไม่ต้องตรงกับนิสัยลูก ลูกจะมีทางเลือกที่อิสระมากกว่าคนที่มีภาระทางการเงินและไม่รู้ภาวะทางการเงินตนเอง"

ชาลอตบอกว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นนิสัยทางการเงินที่ดีที่พ่อแม่ควรทำให้ลูกเห็นคือ เมื่อทำบัญชีรับจ่ายก็ควรเปิดเผยให้ลูกรู้ และคอยสอนเขาให้บริหารเงิน เช่นได้เงินพิเศษเก็บออมยังไงและบันทึกลงในบัญชียังไงดี

"ปกติเวลาไปลงทุนอะไร จดเอาไว้ ก็จะบอกลูกตลอด ให้เขาเห็นว่าแม่เอาเงินไปซื้อที่ดินซื้อบ้านนะ เขาจะได้รู้ฐานะที่แท้จริง และนำแบบอย่างไปใช้"

+........................................+

@ ใช้เงินอย่างมีเหตุมีผล-ไม่ฟุ่มเฟือย @

วรวรรณย้ำว่า คนที่เป็นแม่ไม่ควรจะมีนิสัยเห่อเหิมกับสิ่งที่เป็นแต่เปลือกนอก แต่ชื่นชมกับความงดงาม และความมีคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยไม่วัดคนจากสิ่งเหล่านั้นที่เขามี อุปนิสัยเหล่านี้จะถ่ายทอดไปที่ลูกด้วย

กล่าวคือ เราสามารถมีเท่าที่ลูกคนอื่นๆ เขามีได้โดยไม่เดือดร้อนอะไร แต่จะมีไปทำไมเกินกับที่เราจะใช้ได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละสภาพของเรา

"ตัวอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่จำเป็นต้องเครื่องละ 2 หมื่น ระดับ 6 พันบาทก็เพียงพอเกินพอแล้ว และแม่ออกครึ่ง ลูกออกครึ่ง เดือนไหนลูกใช้จ่ายค่าโทรศัพท์มาก ลูกเหลือเงินน้อย แม่ก็ดับเบิลให้ลูกน้อย ลูกก็จะเห็นว่าในเดือนนี้ลูกมีเงินออมที่จะเอาไปลงทุนน้อยลง ผลของเงินในอนาคตของลูกก็ หดๆๆๆๆ ลูกก็จะฉุกใจคิด ปรับปรุงตนเองต่อไปในเดือนหน้า"

โชติกายอมรับว่าลูกของเธออยู่ในช่วงวัยรุ่น แน่นอนว่าด้วยวัย ทำให้ลูกอยากได้โน่นได้นี่ ซึ่งบางทีก็เป็นการใช้จ่ายอย่างไม่สมเหตุสมผลเท่าไร พฤติกรรมการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยมักจะเกิดในช่วงนี้ เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือจนงบบานปลาย หน้าที่ของแม่คือคอยกล่าวให้เห็นถึงความเหมาะสม และใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุมีผล อธิบายให้ลูกเข้าใจ

"บางทีการกระทำของเรา เราต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจให้ได้ เช่นจะเห็นว่าแม่ซื้อและใช้ของแพงนะ แต่เห็นมั้ยว่าแม่ไม่ได้ซื้อบ่อยหรือพร่ำเพรื่อ แล้วของที่ซื้อมาแม้จะแพงแต่แม่ก็ใช้อย่างคุ้มค่า ก็จะบอกว่าเขา ว่าถ้าลูกรักที่จะซื้อของในแบบของลูกเช่นซื้อเสื้อยืดราคาไม่แพง แต่ซื้อบ่อย ก็จะไม่มีสิทธิมาซื้อของแพงนะ หรือบางทีซื้อนาฬิกามาเรือนหนึ่ง ก็จะบอกเขาว่าแพงแต่คุ้ม ใช้ทีเดียวนานไปเลย หรือบางอย่าง ก็จะคอยชี้ให้เห็นมูลค่าที่งอกเงยของสิ่งที่เราซื้อ สมมติเราซื้อเครื่องประดับอะไรซักชิ้น ก็จะไม่ซื้อที่มันไม่มีมูลค่าเพิ่ม เช่นซื้อต่างหูซักคู่แทนที่จะซื้อของถูก ถ้าเรายอมซื้อแพงหน่อยมันก็มีมูลค่าเพิ่มอยู่ในตัว"


หัวข้อนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาลอตเน้นเสมอว่า พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบเรื่องนิสัยการจับจ่ายที่มีเหตุมีผล บางครั้งที่แม่ต้องซื้อของแพงเข้าบ้าน หรือเป็นของใช้ส่วนตัว แม่ก็ต้องอธิบายถึงเหตุผลและความสมเหตุสมผลให้ลูกเข้าใจได้ เพราะของบางอย่างแพงที่ก็มีเหตุผลที่ควรซื้อ


เหล่านี้เป็นมุมมองของคุณแม่นักการเงิน ที่คุณแม่หลายคนน่าหยิบนิสัยทางการเงินดีๆ ไปประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบให้ลูกหลานได้

หมายเหตุ: msnth.com และขอบคุณ http://www.raidai.com/modules.php?name=News&file=article&sid=1503

การลงทุน คือ การใช้สอยทรัพยากรในลักษณะต่างๆ โดยหวังจะได้รับผลตอบแทนกลับมา มากกว่าที่ลงไปในอัตราที่พอใจภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยทั่วไปหมายถึงการใช้เงินลงทุน เช่น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนในบ้านและที่ดิน การลงทุนทองคำ ฯลฯ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คัมภีร์" การลงทุน
คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา โดย ณ พัฒน์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3786 (2986)

วันนี้ขอเขียนเรื่องการลงทุนหน่อยแล้วกันครับ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และทุกคนไม่ว่าอยู่ในวัยใด ก็ควรทำความเข้าใจกับเรื่องนี้กันสักนิดหน่อย หลายๆ คน มักจะคิดว่าเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว และคิดว่าไว้คอยให้มีเงินก่อนค่อยคิดเรื่องการลงทุนแล้วกัน แต่ผมว่าคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน น่าจะเริ่มคิดได้แล้วว่า จะดำรงชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการได้อย่างไร ถ้ามีครอบครัวจะหาเลี้ยงครอบครัวอย่างไร และถ้าถึงวัยเกษียณอายุ ไม่ต้องทำงาน (และไม่มีรายได้) แล้ว จะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินชีวิตแบบสบายๆ โดยไม่เป็นภาระกับคนอื่นได้อย่างไร

จริงอยู่ครับ ว่าเงินไม่ได้ใช้ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต และเราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อเงิน แต่ก็ต้องยอมรับละครับ ว่าทุกวันนี้เงินเป็นสื่อกลางในการได้มาซึ่งสิ่งที่ชีวิตต้องการ เพราะฉะนั้นผมว่าการใช้เงินอย่างฉลาด พอเหมาะ พอควรกับฐานะ จะนำไปสู่ความสุขได้ครับ

ผมมีหลักง่ายๆ ในการลงทุนห้าข้อ มาให้พิจารณากันครับ หวังว่าอ่านแล้วคงเป็นประโยชน์และนำไปประยุกต์ใช้กันได้นะครับ

1.รู้จักออม

สิ่งแรกก่อนที่จะลงทุนคือต้องมีเงินจะไปลงทุนซะก่อน เงินออมก็คือเงินรายได้ที่เราไม่ได้ใช้ การรู้จักออม ก็คือการรู้จักหารายได้ และการรู้จักใช้ ข้อนี้ผมคงไม่ได้ต้องพูดมากมั้งครับ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนคงรู้เกี่ยวกับโอกาสในการหารายได้ และรายจ่ายที่จำเป็นของตัวเองในปัจจุบันเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่อยากให้คิดถึงคือ การตัดสินใจใช้จ่ายในปัจจุบัน ควรคำนึงถึงรายได้และรายจ่ายในอนาคตไว้ด้วย เช่นว่า คนที่มีรายได้ในปัจจุบันมาก ก็ไม่ควรจะใช้ให้หมดในปัจจุบัน เพราะในอนาคตเราอาจจะมีรายจ่ายที่มากกว่านี้ และรายได้ไม่ได้สูงเท่าปัจจุบัน

พูดแบบนี้คนที่มีรายได้ปัจจุบันน้อย และคิดว่าวันหลังคงมีรายได้มากกว่านี้แน่ๆ ก็อาจจะเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการกู้เงินโดยใช้รายได้ในอนาคตมาเป็นหลักประกัน เอาเงินมาใช้จ่ายก่อน แล้วค่อยจ่ายคืนทีหลัง ซึ่งผมว่าก็มีเหตุผลดี แต่อย่าลืมนะครับว่าอนาคตมีแต่ความไม่แน่นอน ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น รายได้ที่เราคิดว่าจะมาแน่ๆ อาจจะไม่มาก็ได้ เพราะฉะนั้นใช้แต่ที่จำเป็นและอดออมไว้ก่อนเป็นดีครับ

2.รู้จักทางเลือก

พอเรามีเงินออมแล้ว ต่อมาคือเราต้องรู้จักศึกษาหาทางเลือกในการเก็บเงินออมของเรา (เพราะเรามีทางเลือก มากกว่าฝากธนาคาร!) และสิ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้จักศึกษาทางเลือกเหล่านั้นให้ดีๆ แต่ละทางเลือกในการลงทุนมีคุณสมบัติด้าน ผลตอบแทน สภาพคล่อง ลักษณะของกระแสเงินสด ปัจจัยเสี่ยง และระดับความเสี่ยงต่างๆ กันไป ตัวอย่างเช่น การฝากธนาคาร (โดยทั่วไป) มีระดับความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง แต่ก็มีผลตอบแทนต่ำ การเล่นหุ้นมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่า มีสภาพคล่องสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงด้วย เช่นกัน

ผมว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับพลังมหัศจรรย์ของผลตอบแทนทบต้นมามากแล้วใช่ไหมครับ ถ้าเราสามารถหาทางเลือกในการลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี เงินต้นของเราจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายใน 15 ปี แต่ถ้าเราสามารถหาทางให้เงินลงทุนของเราทำงานหนักขึ้น และให้ผลตอบแทนแก่เราโดยเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี เงินของเราจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายใน 9 ปีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการเลือกลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ช่วยร่นระยะเวลาถึงเป้าหมายทางการเงินของเราได้อย่างเห็นได้ชัด แต่อย่าลืมนะครับว่าสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย

ทุกวันนี้โลกแห่งการเงินพัฒนาไปมาก และเรามีทางเลือกมากมายในการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของเรา นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่างๆ เปิดโอกาสให้คนที่มีเงินลงทุนน้อยสามารถเข้าถึงการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้มากขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำ นอกจากนี้ เดี๋ยวนี้รัฐบาลยังส่งเสริมให้คนลงทุนโดยให้แรงจูงใจทางภาษีมากมาย ก็ศึกษาและทำความเข้าใจกับทางเลือกเหล่านี้ไว้ก็ดีครับ ไม่เสียหลาย

นอกจากการลงทุนของเราเองแล้ว อย่าลืมนะครับว่า บางคนอาจจะมีสินทรัพย์อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม ที่เราจ่ายเงินสมทบอยู่ทุกเดือน แต่ก็อย่าไปหวังอะไรมากนักเลยครับ เพราะพอถึงเวลาที่เราเกษียณ และต้องการเงินตรงนี้ขึ้นมาจริงๆ กองทุนเหล่านี้อาจจะไม่อยู่แล้ว หรืออาจจะไม่ได้จ่ายผลประโยชน์อย่างที่กำลังโฆษณาอยู่ก็ได้ กองทุนประกันสังคมในอเมริกา และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทบางแห่งเป็นตัวอย่างที่ดีครับ (กองทุนประกันสังคมของอเมริกา ถึงกับเขียนเตือนผู้คนไว้บนใบสรุปผลประโยชน์ประจำปีว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในเชิงโครงสร้างของกองทุน อีก 35 ปีกองทุน จะเหลือเงินจ่ายเงินผลประโยชน์แค่ร้อยละ 74 ของผลประโยชน์ที่จ่ายให้อยู่ในปัจจุบัน!) ก็คิดถึงความเสี่ยงตรงนี้ไว้นิดนึงนะครับ

3.รู้จักความเสี่ยง

เมื่อรู้จักทางเลือกในการลงทุนแล้ว ก็ต้องรู้จักความเสี่ยงที่มากับการลงทุนด้วย ความเสี่ยงของการลงทุน ก็คือความไม่แน่นอนทั้งหลายที่ทำให้มูลค่าของการลงทุนของเราเปลี่ยนไปจากผลตอบแทนที่เราคาดว่าจะได้ ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ไม่มีการลงทุนไหนที่ไม่มีความเสี่ยงเลย (แม้แต่การเอาเงินฝังตุ่มไว้ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากเงินเฟ้อ ที่ทำให้ค่าของเงินในตุ่มเราลดลงเลยครับ) เราจึงควรทำความเข้าใจถึงปัจจัยความเสี่ยงของการลงทุน ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้มูลค่าและผลตอบแทนจากการลงทุนของเราเปลี่ยนไปได้บ้าง ปัจจัยเสี่ยงทั่วๆ ไปที่เราควรคิดถึง ก็รวมไปถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงที่เกิดจากราคา (เช่น ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ราคาที่ดิน ฯลฯ) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจมหภาค (เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ) ความเสี่ยงทางเครดิต และความเสี่ยงทางเทคนิค (เช่น สั่งขายหุ้นแต่โบรกเกอร์ดันไปซื้อเพิ่ม)

เราอาจจะคิดง่ายๆ ว่า ผลตอบแทนที่เราได้มากขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็คือค่าตอบแทนในการเข้าไปถือปัจจัยเสี่ยงของสินทรัพย์ชนิดนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนเราจึงควรพิจารณาว่า สินทรัพย์ที่เรากำลังตัดสินใจเข้าไปลงทุนนั้น มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง มีระดับความเสี่ยงขนาดไหน และผลตอบแทนที่เราได้รับว่าคุ้มค่ากันหรือไม่ และเรายอมรับความเสี่ยงเหล่านี้ได้หรือไม่

4.รู้จักบริหารความเสี่ยง

เมื่อเรายอมรับว่าไม่มีการลงทุนไหนที่ไม่มีความเสี่ยง เราก็ต้องบริหารความเสี่ยงในการลงทุนของเราให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยอมรับได้ วิธีการลดความเสี่ยงที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง ก็คือการกระจายความเสี่ยง เพราะความมหัศจรรย์ของคณิต ศาสตร์ที่บอกว่า ถ้าผลตอบแทนของสินทรัพย์สองชนิดไม่เคลื่อนไหวขึ้นลงไปพร้อมกันตลอดเวลาแล้วละก็ (ภายใต้เงื่อนไขบางประการ) เราสามารถสร้างการลงทุนที่ดีกว่า (ในแง่ของการตัดสินใจในภาวะได้อย่างเสียอย่าง ระหว่างผลตอบแทน และความเสี่ยง) โดยการถือสินทรัพย์สองชนิดไว้พร้อมๆ กัน ฝรั่งเขาถึงบอกว่าอย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเดียว เพราะถ้าตะกร้าหล่นมาเมื่อไรละก็ เราจะไม่มีไข่กินเอานะสิครับ

แต่การลดความเสี่ยงโดยการกระจายความเสี่ยง ก็ลดได้แต่ความเสี่ยง "เฉพาะ" ของสินทรัพย์เท่านั้น การลงทุนทุกชนิดจะมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถลดลงได้โดยการกระจายความเสี่ยงเสมอ เราจึงต้องรู้จักปัจจัยความเสี่ยงที่การลงทุนของ เรามี และบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เรายอมรับได้

5.รู้จักตัวเอง

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุน คือต้องรู้จักตัวเอง รู้จักเป้าหมาย และระดับการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง

อย่างที่บอกครับว่า เราควรบริหารเงินลงทุนให้มีระดับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสม และระดับที่เหมาะสมของนักลงทุนแต่ละคนก็ต่างกันไปครับ เช่นว่า นักลงทุนวัยละอ่อน อาจจะสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า นักลงทุนวัยดึก เพราะถึงขาดทุนไปก็ยังพอมีเวลาเอาคืนได้อยู่

นอกจากความเสี่ยงแล้ว เราควรรู้จักตัวเองว่ากระแสเงินสดในแต่ระยะช่วงเวลาของชีวิตเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อเริ่มทำงานไปสักพัก เราอาจจะมีรายได้มากกว่ารายจ่าย (ที่จำเป็นจริงๆ) เราอาจจะรู้สึกร่ำรวยขึ้นมาผิดปกติ และอยากเอาเงินที่ได้มานั้นไปใช้ แต่เราก็ควรวางแผนการใช้เงิน โดยพิจารณาวงจรของชีวิตของตัวเอง เพราะว่าพออายุเพิ่มขึ้น แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นตาม แต่รายจ่ายก็อาจจะตามมาติดๆ เช่นกัน ไหนจะหาเงินแต่งงาน เงินค่านมลูก เตรียมแป๊ะเจี๊ยะลูกเข้าเตรียมอนุบาล ฯลฯ ถ้าใครเกิดมาในครอบครัวร่ำรวย พ่อยกหุ้นให้สองสามหมื่นล้าน อาจจะไม่ต้องคำนึงถึงข้อนี้มากนัก แต่ถ้าคนอื่นไม่โชคดีแบบนี้ก็น่าจะพิจารณาตรงนี้สักนิดนะครับ

พอพิจารณาศึกษาปัจจัยเหล่านี้กันได้แล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มลงมือตัดสินใจลงทุนกันเสียที ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มคิดละครับว่า เรามีเงินอยู่เท่าไร จะแบ่งเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินเท่าไร และพอจะเอาไปลงทุนได้เท่าไร พอได้เงินก้อนที่จะเอาไปลงทุนแล้ว ก็ต้องเอามาแบ่งในแต่ละ "ชั้นของสินทรัพย์" ละครับ ว่าจะเอาเงินไปลงทุนแต่ละกลุ่มอย่างไร เช่น ชั้นของสินทรัพย์ที่คนทั่วๆ ไปลงทุนก็เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หุ้นตัวใหญ่ หุ้นตัวเล็ก หุ้นกลุ่มพลังงาน หุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว หุ้นในตลาดเกิดใหม่ กองทุนที่ลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติและโลหะมีค่า ฯลฯ

อย่าลืมแล้วกันครับ ว่าถ้าเราไม่มีเวลาและความสามารถในการติดตามตลาดการเงินแบบใกล้ชิด โอกาสที่เราจะทำได้ดีกว่า "ค่าเฉลี่ย" ของตลาดในระยะยาวเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย และด้วยพลังของการกระจายความเสี่ยง โดยเฉลี่ยแล้วการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลายๆ ตัวในชั้นของสินทรัพย์เดียวกัน (เช่นถือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัว เช่น SET50 Index Fund) จะให้ผลตอบแทนในระยะยาวสูงกว่า และมีความเสี่ยงต่ำกว่าการซื้อสินทรัพย์เป็นตัวๆ (ผมไม่ได้บอกว่าการซื้อกองทุนจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการเล่นหุ้นเป็นตัวๆ เสมอไปนะครับ ถ้าใครมีเวลา และความสามารถก็อาจจะลงทุนได้ดีกว่าตลาด ก็ได้ครับ)

ถ้าเรายึดหลักแบบนี้ การตัดสินใจการลงทุนของเรา ก็เหลือแค่การกระจายเงินลงทุนของเราลงไปในแต่ละ "ชั้นสินทรัพย์" โดยที่เราไม่ต้องมานั่งนึกว่าจะซื้อหุ้นตัวไหน กี่หุ้นดี ผมว่ามันง่ายกว่ากันเยอะเลยครับ แต่ถ้าใครรู้สึกว่ามันยังยากเกิน จะไปซื้อกองทุนที่เขาออกแบบมาให้แล้ว ก็ไม่ผิดอะไร แต่อย่าลืมศึกษาก่อนลงทุนแล้วกันครับ ว่าเขาเอาเงินเราไปทำอะไรบ้าง

อย่างนี้ต้องจบแบบโฆษณาชวนเชื่อทั่วไปครับ "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน"

;;